ปัจจุบันอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทกับการใช้ชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างมาก รูปแบบของการใช้งานอินเทอร์เน็ตมีด้วยกันหลากหลายช่องทาง
เริ่มจากการเชื่อมต่อโมเด็มผ่านคู่สายโทรศัพท์ ซึ่งเป็นการเข้าใช้งานในแบบดั้งเดิมจนปัจจุบันก็ยังมีการใช้งานอยู่ การเชื่อมต่อผ่านคู่สายทองแดงด้วยเทคโนโลยี ADSL หรือที่เรียกกันว่า “อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง” การเชื่อมต่อผ่านคู่สาย Fiber Optic ในกรณีที่เป็นอินเทอร์เน็ตสำหรับองค์กร การเชื่อมต่อผ่านโทรศัพท์มือถือหรือ Aircard ด้วยเทคโนโลยี 3G, EDGE, GPRS และ Wi-Fi
จากข้อมูลข้างต้นบ่งชี้ว่ารูปแบบการเชื่อมต่อในปัจจุบันทำให้สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลาจริง ๆ และในไม่ช้าการดำเนินชีวิตประจำวันของเราอาจขาด “อินเทอร์เน็ต” ไม่ได้เช่นเดียวกับไฟฟ้าและน้ำประปากันเลยทีเดียว
การดำเนินธุรกิจในปัจจุบันเมื่ออินเทอร์เน็ตในองค์กรไม่สามารถใช้งานได้เพียงชั่วขณะจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมอย่างไรบ้าง ? แน่นอนว่าการรับ – ส่งข้อมูลทั้งภายในและภายนอกหน่วยงานจะไม่สามารถติดต่อกันได้ ทำให้การประชุมระหว่างสาขาเป็นอันต้องหยุดชะงักไปชั่วขณะ หรืออาจพลาดโอกาสทางธุรกิจไปเลยก็เป็นได้หากอยู่ระหว่างการประมูลออนไลน์ ซึ่งเชื่อว่าหน่วยงานทุกองค์กรต้องเคยประสบปัญหาเหล่านี้กันมาบ้างแล้วไม่มากก็น้อยหากอินเทอร์เน็ตล่ม!! ดังนั้นการเลือกใช้อินเทอร์เน็ตจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP : Internet Service Provider) ที่ดีจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ ของการดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบัน
แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าผู้ให้บริการ ISP รายใดให้บริการได้ดีมีคุณภาพ ?
กับสุภาษิตที่คุ้นกันดีว่า “ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่” ยังคงใช้ได้เสมอแม้เทคโนโลยีจะมาสู่ยุคดิจิทัลแล้วก็ตาม ที่ต้องอ้างอิงถึงสุภาษิตข้างต้นเพื่อต้องการสื่อว่าการจะเลือกใช้บริการอินเทอร์เน็ตจาก ISP รายใด ก็สามารถใช้หลักการเดียวกับการเลือกสาว ๆ ที่คนสมัยก่อนท่านแนะไว้ คือให้ย้อนกลับไปดูที่มาของบริการอินเทอร์เน็ตของ ISP รายนั้นๆ ก่อนที่จะนำบริการอินเทอร์เน็ตหรือ Content ต่าง ๆ ส่งต่อให้เราได้ใช้กัน เพื่อให้ง่ายแก่การทำความเข้าใจขอแบ่งส่วนรับผิดชอบของ ISP เป็น 2 ส่วนคือ 1. ส่วนของ User 2. ส่วนของ Content
รูปที่ 1 แสดงการเชื่อมต่อของ ISP
1. ส่วนของ User
ในส่วนนี้ ISP ทำหน้าที่จัดเตรียมสื่อสัญญาณสำหรับเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตให้แก่ผู้ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นคู่สายทองแดง, Optic Fiber หรือ Account สำหรับใช้งานอินเทอร์เน็ต โดยที่เราไม่ต้องทำอะไรเลย แค่สมัครใช้บริการอย่างเดียว จากนั้น ISP ก็จะจัดการให้เราสามารถเชื่อมต่อไปยังบริการอินเทอร์เน็ตหรือ Content ต่าง ๆ ได้ (เป็นช่องทางให้ผู้ใช้บริการเชื่อมต่อกับ ISP ได้นั่นเอง)
2. ส่วนของ Content หรือ Server
ในส่วนนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของการให้บริการอินเทอร์เน็ตของ ISP แต่ละรายได้ในเบื้องต้น เนื่องจาก ISP ที่ดีจะต้องหาวิธีที่จะเชื่อมต่อไปยังผู้ให้บริการเว็บไซต์ หรือ Contents ต่าง ๆให้ได้มากที่สุดเพื่อจะอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการให้สามารถเรียกไปยังเว็บไซต์ปลายทางได้นั่นเอง
เว็บไซต์หรือ Contents แบ่งเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มผู้ให้บริการที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย (Domestic Contents) และกลุ่มผู้ให้บริการที่ตั้งอยู่ต่างประเทศ (International Contents)
วิธีการที่ ISP เชื่อมต่อไปยัง Content ต่างๆ มีอยู่หลายวิธีด้วยกัน เช่น การเชื่อมต่อตรงไปยัง Server ของผู้ให้บริการ Content การเชื่อมต่อด้วยวิธีนี้จะมีคุณภาพสูง แต่ผู้ให้บริการ ISP อาจต้องลงทุนค่อนข้างสูงด้วยเช่นกัน เนื่องจากต้องเชื่อมต่อไปยังผู้ให้บริการ Contents หลายรายซึ่งแต่ละรายตั้งอยู่ต่างสถานที่กัน
อีกวิธีหนึ่งที่เป็นที่นิยมและทำให้ ISP ลดต้นทุนลงได้แต่ยังสามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพคือ ISP เชื่อมต่อไปยังบริการ “Internet Gateway Service (IG Service)” เมื่อ ISP เชื่อมต่อกับผู้ให้บริการ IG เพียงจุดเดียวก็จะสามารถนำผู้ใช้บริการสู่โลกอินเทอร์เน็ตได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ทันที ปัจจุบันมีผู้ให้บริการ IG หลายรายแต่ละรายก็ให้บริการด้วยคุณภาพและวิธีการที่แตกต่างกันไป โดยสามารถเข้าไปดูข้อมูลการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทั้งในและต่างประเทศของ ISP ได้ที่ URL http://internet.nectec.or.th/webstats/internetmap.current.iir?Sec=internetmap_current เป็นข้อมูลที่ NECTEC Update ข้อมูลให้ทราบถึงปริมาณและการเชื่อมต่อจาก ISP ไปยังผู้ให้บริการ IG และจากผู้ให้บริการ IG ไปยัง ผู้ให้บริการที่มีการเชื่อมต่อกับ Content ทั้งในและต่างประเทศเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งผู้ใช้บริการที่กำลังจะตัดสินใจเลือก ISP อยู่ สามารถใช้ข้อมูลนี้ประกอบการพิจารณาในเบื้องต้นได้ เพราะอย่างน้อยข้อมูลในเว็บนี้จะบอกถึงปริมาณการเชื่อมต่อของ ISP แต่ละรายว่าต่อไปยังผู้ให้บริการ Contents มากน้อยเพียงใด ซึ่งปริมาณและวงจรที่แสดงนี้แหละที่ส่งผลต่อคุณภาพของอินเทอร์เน็ตที่ท่านใช้งานอยู่
เรามาดูโครงสร้างของ IG กันว่าเป็นอย่างไร ประกอบด้วยอะไรบ้าง เพื่อให้ง่ายแก่การเข้าใจ และขออนุญาตยกตัวอย่างบริการ Internet Gateway จากบทความของผู้ให้บริการที่ถือว่าเป็นต้นกำเนิดของ Internet Gateway ในประเทศไทยคือ CAT หรือ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)
เรามาเริ่มกันตรงที่ “Internet Gateway Service” ที่ว่าทำให้ ISP เชื่อมต่อไปยัง Content ทั้งในและต่างประเทศได้นั้นน่ะเป็นอย่างไรและมีองค์ประกอบอะไรบ้าง ?
จากข้อมูลที่จำได้อย่างแม่นยำบอกได้เลยว่า Internet Gateway Service แบ่งเป็น 2 บริการย่อยคือ
1. CAT NIX (National Internet Exchange) สำหรับให้ ISP สามารถเชื่อมต่อไปยังเว็บไซต์ และ Contents ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย
2. CAT THIX (Thailand International Internet Exchange) สำหรับให้ ISP สามารถเชื่อมต่อไปยังเว็บไซต์ และ Contents ที่ตั้งอยู่ต่างประเทศ
การเชื่อมต่อของบริการ CAT NIX ทางด่วนอินเทอร์เน็ตภายในประเทศ
รูปที่ 2 แสดงการเชื่อมต่อแบบเดิม
รูปที่ 3 แสดงการเชื่อมต่อผ่าน CAT NIX
บริการ CAT NIX ทางด่วนอินเทอร์เน็ตภายในประเทศ
Concept ของการเชื่อมต่อเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดคือต้องเชื่อมต่อไปยัง Server ที่ตั้งของเว็บไซต์ในประเทศทุก ๆ เว็บไซต์หรือให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเชื่อมต่อได้ ดังนั้นหากพิจารณาการเชื่อมต่อในรูปที่ 2 จะเห็นว่าผู้ให้บริการ ISP ต้องลงทุนเชื่อมต่อไปยังทุก ๆ ผู้ให้บริการ ISP ที่มี Content ชั้นนำตั้งอยู่เพื่อให้ผู้ใช้บริการฯสามารถเรียกไปยังเว็บไซต์นั้น ๆได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว แต่ก็ต้องแลกกับเงินลงทุนก้อนใหญ่ในส่วนของการสร้างวงจรเชื่อมต่อไปยังเว็บนั้น ๆ แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็นการเชื่อมต่อของผู้ให้บริการ ISP ในรูปที่ 3 จะเห็นว่า ISP เชื่อมต่อที่ CAT NIX จุดเดียวก็จะสามารถเรียกไปยังเว็บไซต์ทุกแห่งมีการเชื่อมต่ออยู่กับ CAT NIX ได้เลย ดังนั้นการเชื่อมต่อกับ CAT NIX ตาม Concept จึงช่วยให้ ISP สามารถลดต้นทุนในการต่อไปยัง Content ต่าง ๆ ภายในประเทศได้ อีกทั้งยังมีความสะดวกในการดำเนินการ และสามารถให้บริการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น จะเห็นได้ว่า CAT NIX วันนี้ทำหน้าที่เป็นเสมือนจุดศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตภายในประเทศไปแล้ว จึงไม่น่าแปลกที่ปัจจุบันผู้ให้บริการ ISP ส่วนใหญ่ทั้งรายใหญ่และรายย่อยเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เชื่อมต่อกับบริการ CAT NIX ของ CAT datacom กันอย่างมากมาย
บริการ CAT THIX ทางด่วนอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ
ในอดีตการเชื่อมต่อไปยัง Contents ต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ต่างประเทศของ ISP มักใช้วิธีการเชื่อมต่อตรงไปยังประเทศปลายทางที่มี Content ที่ต้องการตั้งอยู่ซึ่งต้องเสียค่าเช่าเคเบิลใต้น้ำ หรืออาจจะต้องเช่าเคเบิลที่วิ่งบนเสาไฟฟ้าเพื่อไปต่อกับ Contents ต่าง ๆ ในประเทศใกล้เคียง ซึ่งหาก ISP ต้องการเชื่อมต่อไปยัง Content ต่างประเทศโดยเน้นในเรื่องคุณภาพก็จะต้องทำการเชื่อมต่อไปยังหลายประเทศ แต่วิธีนี้จะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายสูง
รูปที่ 4 การเชื่อมต่อผ่าน IPLC
จากปัญหาดังกล่าว CAT จึงได้พัฒนาบริการ CAT THIX ขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับ ISP ให้สามารถใช้บริการ International Contents ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย Concept ของบริการ CAT THIX คือ ISP สามารถเชื่อมต่อกับ CAT THIX เพียงจุดเดียวก็สามารถเชื่อมต่อไปยัง International Content ต่าง ๆ ชั้นนำได้ทั่วทุกมุมโลกโดยผ่านระบบเคเบิลใต้น้ำของ CAT ที่ต่อตรงไปยังต่างประเทศเลยทีเดียว ทั้งยังมีการออกแบบให้แต่ละระบบทำงานเป็น Redundance กัน เพื่อป้องกันกรณีเมื่อเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งขัดข้องระบบก็ยังสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง โดยระบบจะส่ง Traffic อินเทอร์เน็ตวิ่งผ่านเคเบิลเส้นที่สามารถใช้งานได้เพื่อไปยังปลายทางนั้น ๆ....เป็นที่ทราบกันดีในหมู่ ISP ว่า CAT มีระบบเคเบิลใต้น้ำออกต่างประเทศที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศขณะนี้ เนื่องจากมีจุดเชื่อมต่อออกต่างประเทศมากกว่า 3 จุด มีระบบเคเบิลออกต่างประเทศมากกว่า 5 ระบบ และยังมีโครงการลงทุนในระบบเคเบิลเส้นใหม่อยู่ตลอดเวลา จึงทำให้ CAT สามารถจัดการระบบเคเบิลได้อย่างเป็นอิสระและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดทั้งในแง่ของความจุ (Bandwidth) และ เส้นทาง (Route)
ส่วนผู้ให้บริการ IG รายอื่นๆ ปัจจุบันยังไม่มีระบบเคเบิลใต้น้ำต่อตรงออกต่างประเทศเอง จึงใช้วิธีการต่อผ่านเคเบิลบนดินไปออกทางประเทศมาเลยเซียเพื่อเชื่อมต่อกับ International Content ที่ประเทศสิงคโปร์แทน
รูปที่ 5 ภาพรวมการเชื่อมต่อของบริการ CAT NIX , CAT THIX
สรุปได้ว่า Internet Gateway Service ทำหน้าที่เป็นเสมือนช่องทางด่วนสำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตที่อำนวยความสะดวกให้กับ ISP นั่นเอง
เราได้ทราบข้อมูลคร่าว ๆ แล้วว่าก่อนที่ ISP จะพาเราไปสู่โลกของอินเทอร์เน็ตได้นั้นมีวิธีการและขั้นตอนอย่างไร คราวหน้าถ้าท่านอยู่ในภาวะที่ต้องเลือก ISP เพื่อใช้บริการอินเทอร์เน็ตอย่าลืมสุภาษิต “ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่” นะครับ
สำหรับท่านที่กำลังคิดจะเป็นผู้ให้บริการ ISP รายใหม่และยังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรลองติดต่อขอคำปรึกษาเพิ่มเติมจากทีมงานผู้มีประสบการณ์ของ CAT ได้ตลอดเวลาครับ ข้อมูลเพิ่มเติม : http://www.cat.net.th , http://www.catdatacom.com หรือโทร 02-104-4408 , 02-104-4655