สวัสดีครับท่านผู้อ่าน เป็นโอกาสดีที่ได้กลับมาพบกันอีกครั้ง จากบทความในตอนที่แล้ว “ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่” เราได้พูดถึงแนวทางในการเลือกผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตกันว่าสามารถยึดสุภาษิตโบราณมาใช้ในการเลือก ISP ได้ วันนี้จึงขอพาท่านไปทำความรู้จักกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตตัวแม่กันซะเลย ซึ่งจะเป็นข้อมูลเชิงลึกให้ได้ทราบว่า “อินเทอร์เน็ตตัวแม่” ของเราเป็นใครกันแน่…??
การที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider : ISP) จะให้บริการอินเทอร์เน็ตได้ต้องมีการเชื่อมต่อไปยังผู้ให้บริการเว็บไซต์ทั้งในและต่างประเทศ นึกง่าย ๆ ว่าเว็บไซต์มีอยู่ตั้งมากมาย แถมยังอยู่ต่างสถานที่ ต่างประเทศกันอีก ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่ ISP จะตามไปเชื่อมต่อโดยตรงกับผู้ให้บริการเหล่านั้นได้ทุกราย (ในทางเทคนิคเรามักเรียกการเชื่อมต่อตรงไปยังกลุ่มเว็บไซต์เป้าหมายว่าการ “Peer”) จึงมีแนวคิดในการรวบรวมผู้ให้บริการเว็บไซต์ต่าง ๆ ให้มารวมกันในแต่ละพื้นที่แล้วจึงขยายการเชื่อมต่อออกไปตามลำดับชั้น เช่นจากการเชื่อมต่อเฉพาะเว็บไซต์ภายในอาคาร ขยายออกไปภายในกรุงเทพฯ และในประเทศ จนสามารถขยายการเชื่อมต่อไปยังทั่วโลก ซึ่งเราเรียกแนวคิดนี้ว่า Internet Exchange หรือ Internet Gateway นั่นเอง และเพื่อให้สะดวกแก่การบริหารจัดการจึงได้แยก Internet Exchange ออกเป็น International Internet Exchange หรือ International Internet Gateway หรือที่เราเรียกกันว่า IIG ซึ่งเป็นศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ และ National Internet Exchange (NIX) เป็นศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตภายในประเทศ
ปัจจุบันมีผู้ให้บริการ Internet Gateway เพิ่มขึ้นมาก แต่ละผู้ให้บริการมีจุดขายที่ต่างกันไป เช่น บางรายขายคุณภาพจึงมีราคาสูง บางรายขายราคาถูกคุณภาพก็จะต่ำลงมา ดังนั้นการเลือกผู้ให้บริการ Internet Gateway ของ ISP แต่ละรายจึงมีผลกระทบโดยตรงต่อทั้งราคาและคุณภาพของผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ต เนื่องจากถือเป็นปัจจัยสำคัญของการให้บริการอินเทอร์เน็ต ทีนี้คงเดากันออกแล้วใช่ไหมครับว่า “อินเทอร์เน็ตตัวแม่” ของเราก็คือผู้ให้บริการ Internet Gateway ทั้งหลายนั่นเอง
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าคุณภาพของ “อินเทอร์เน็ตตัวแม่” แต่ละรายเป็นอย่างไร... ??
ผู้ให้บริการ ISP จำเป็นต้องมีการเชื่อมต่อ (Peer) ไปยังผู้ให้บริการเว็บไซต์ให้มากที่สุดเพื่อให้ผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตสามารถเรียกไปยังเว็บไซต์ต่าง ๆ ได้ทั่วโลก เนื่องจาก ISP เหล่านี้ทำการเชื่อมต่อผ่านผู้ให้บริการ Internet Gateway เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเรียกไปยังเว็บไซต์ปลายทางได้ นั่นแสดงว่าหากผู้ให้บริการ Internet Gateway มีการเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการ Contents หรือเว็บไซต์จำนวนมากทั้งในมิติของปริมาณ Bandwidth และจำนวนคู่ Peer ก็หมายถึงผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมีโอกาสที่จะได้ใช้บริการที่มีคุณภาพมากขึ้นนั่นเอง
เนื่องจากผู้ให้บริการ Internet Gateway จะมีเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ปริมาณการใช้งานของ ISP และเส้นทางที่ ISP แต่ละรายใช้อยู่และจะพยายามเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการ Contents ที่ตรงกับความต้องการใช้งานของ ISP ให้มากที่สุด ตรงนี้เองถือเป็นหัวใจสำคัญของผู้ให้บริการ Internet Gateway ที่ต้องทำให้ดีที่สุดเนื่องจากมีผลกับคุณภาพบริการโดยตรง
การพิจารณาคุณภาพบริการในมิติของจำนวนคู่ Peer ในทาง Physical และปริมาณ Bandwidth สามารถตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นได้จาก Internet map ของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (National Electronics and Computer Technology Center : NECTEC) ซึ่งเป็นข้อมูลกลางที่เปิดเผยภาพรวมของการเชื่อมต่อ Internet Gateway ทั้งประเทศ ซึ่ง NECTEC แบ่งข้อมูลการเชื่อมต่อเป็น IIG และ NIX เพื่อให้ง่ายแก่การทำความเข้าใจ ขอยกภาพ Internet map ประกอบการอธิบายดังนี้ (ทั้ง IIG และ NIX ใช้หลักการเดียวกันในการพิจารณาได้)
ภาพ International Internet
A : เป็นส่วนของผู้ให้บริการ Content หรือผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่อยู่ต่างประเทศ (International Internet Provider)
B : คือส่วนของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย (ISP) เช่น True, TOT, Triple-T ซึ่งเป็นลูกค้าของผู้ให้บริการ Internet Gateway
C : หมายถึงผู้ให้บริการ Internet Gateway ตามภาพนี้หมายถึงผู้ให้บริการ International Internet Gateway (IIG)
D : หมายถึงองค์กรที่ไม่หวังผลกำไรทางธุรกิจต่างๆ เช่น Uninet, GIN, ThaiREN โดยรวมของภาพนี้สื่อให้เห็นได้สองส่วนคือ
1. B => C และ D => C
เป็นส่วนที่ ISP เชื่อมต่อไปยังผู้ให้บริการ Internet Gateway ใช้สีเป็นสัญลักษณ์แทนการเชื่อมต่อไปยังแต่ละ IIG
ภาพแสดงปริมาณ Bandwidth International ของแต่ละ ISP
(Bandwidth of B & D)
ข้อมูลจาก Internetmap NECTEC, 6 Nov 2012
จากการวิเคราะห์ข้อมูลในส่วนนี้จะเห็นว่า ISP ที่มีการเชื่อมต่อกับ International Internet Gateway มากที่สุดคือ TOT, True, Triple-T ตามลำดับทั้งยังทำให้ทราบว่า ISP รายใหญ่ๆทั้งสามรายข้างต้นมีการต่อออกต่างประเทศเองบางส่วนแต่ก็มีบางส่วนที่ทั้งสามรายยังคงใช้บริการจาก CAT-IIG (CAT เรียกบริการนี้ว่า CAT THIX) และใช้อยู่ด้วยปริมาณ Bandwidth ที่ค่อนข้างสูงสันนิษฐานว่าอาจมาจากสาเหตุที่ ISP ต้องการให้บริการของตนเองมีประสิทธิภาพที่สุดจึงมีการเชื่อมต่อไปยังผู้ให้บริการ IIG มากกว่า 1 รายเพื่อเพิ่มจำนวนคู่ Peer ให้มากขึ้นในเส้นทางที่ตนยังไม่มีนั่นเอง
ภาพแสดงปริมาณ Market share ของบริการ International Internet Gateway
ข้อมูลจาก Internetmap NECTEC, 6 Nov 2012
จากข้อมูลเดียวกันเมื่อมองกลับไปว่า ISP ใช้บริการจากผู้ให้บริการ IIG รายใดมากที่สุดหรือ Market share ของผู้ให้บริการ IIG เป็นอย่างไรนั้นพบว่า TOT-IIG เป็นผู้ที่ครองส่วนแบ่งทางตลาดสูงถึง 36% แต่ Bandwidth มากกว่า 90% ให้บริการแก่ TOT-ISP ถือเป็นการใช้เองซะส่วนใหญ่; ลำดับถัดมาคือ CAT-IIG (CAT THIX) มีส่วนแบ่งทางตลาด 33% ให้บริการแก่ CAT-ISP น้อยกว่า 40% ที่เหลือมากกว่า 60% เป็น ISP ในประเทศ เช่น True, TOT, Triple-T; ลำดับถัดมาคือ True-IIG และ Jastel-IIG ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการให้บริการแก่ ISP ในธุรกิจอินเทอร์เน็ตของตนเอง
2. C <=> A
การเชื่อมต่อระหว่างผู้ให้บริการ Internet Gateway ไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต่างประเทศ ใช้สีแทนสัญลักษณ์การเชื่อมต่อของแต่ละ IIG ไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต่างประเทศ เส้นที่มีลูกศรตรงปลายหมายถึงการเชื่อมต่อเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยตรงระหว่าง IIG กับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต่างประเทศเรียกว่า “Peering” และเส้นที่ไม่มีลูกศรตรงปลายหมายถึงการเชื่อมต่อแบบ Transit ซึ่งสามารถส่งต่อไปยังปลายทางอื่น ๆ ที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต่างประเทศรายนั้น ๆ ต่ออยู่ได้
จาก Internet map ในส่วนของ International Internet Gateway พอจะสรุปได้ดังนี้
ภาพแสดงปริมาณ Bandwidth การเชื่อมต่อจาก IIG
ไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต่างประเทศ
ข้อมูลจาก Internetmap NECTEC, 6 Nov 2012
ข้อมูลในส่วนนี้สรุปได้ว่า CAT-IIG หรือ CAT THIX มีการเชื่อมต่อไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต่างประเทศมากที่สุดและจำนวนคู่ Peer ทาง Physical ประมาณ 42 Peers ลำดับถัดมาคือ True และ TOT ตามลำดับ และมีจำนวนคู่ Peer ทาง Physical เท่ากันคือ 20 Peers
จากข้อมูลทั้งหมดจะเห็นได้ว่า CAT อาจไม่ใช่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ผู้ใช้ทั่วไปรู้จักมากนัก แต่สำหรับ ISP หลาย ๆ รายในประเทศนั้นทราบกันดีถึงคุณภาพบริการของ CAT-IIG จึงไม่แปลกที่ผู้เขียนจะกล่าวว่า CAT IIG หรือ CAT THIX คือ “อินเทอร์เน็ตตัวแม่” อย่างแท้จริง ณ ชั่วโมงนี้