ข่าวประชาสัมพันธ์ บมจ. กสท โทรคมนาคม

ศูนย์รวมข้อมูลข่าวสารและกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับกิจการสื่อสารโทรคมนาคม

CAT Internet Gateway จริงหรือที่ว่าเป็นอินเทอร์เน็ตตัวแม่ ?

26.01.2013

สวัสดีครับท่านผู้อ่านได้กลับมาพบกันอีกครั้ง จากบทความที่แล้ว “ อินเทอร์เน็ตตัวแม่” เราได้ข้อสรุปว่าปัจจุบันมีผู้ให้บริการ Internet Gateway ในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น และข้อมูลจาก Internetmap ของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (National Electronics and Computer Technology Center : NECTEC) ทำให้เราทราบได้คร่าว ๆ ว่า ผู้ให้บริการ Internet Gateway ที่มีจำนวนลูกค้ามากที่สุดคือ CAT IIG ซึ่งลูกค้าก็คือ ISP ชั้นนำในประเทศนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็น True internet, Triple-T (3BB), TOT, CSLoxinfo,... จากข้อมูลของ NECTEC ทำให้เกิดข้อสงสัยขึ้นประเด็นหนึ่งว่า “ISP รายใหญ่มี Internet Gateway ของตนเองทำไมยังต้องใช้บริการ CAT Internet Gateway อีกล่ะ”

คำถามนี้เริ่มเกิดขึ้นในใจหลังจากทราบว่า ISP รายใหญ่หลายรายมี IIG และ NIX เป็นของตนเอง  คำตอบของคำถามนี้ผู้ที่ตอบได้ดีที่สุดคือ ISP เท่านั้น สำหรับในบทความนี้เราลองมาตั้งข้อสันนิษฐานกันจากข้อมูลที่พอจะหาได้  แต่ข้อสันนิษฐานนั้นจะถูกต้องมากน้อยเพียงใดนั้น มาลองพิจารณาดูครับ

หาก ISP ต้องการเลือกใช้บริการ IIG จากผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่งควรพิจารณาจากคุณสมบัติเบื้องต้นดังนี้

1. เครือข่าย Internet Gateway มีการเชื่อมต่อกับ Contents ปลายทางจำนวนมาก
2. เครือข่ายมีวงจรเชื่อมต่อไปยังต่างประเทศด้วยเส้นทางที่หลากหลาย
3. มีระยะทางในการเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคปลายทางที่สั้นที่สุด
4. มีความสามารถในการขยายวงจรเชื่อมต่อไปยังต่างประเทศได้ในทันทีที่ต้องการขยายเพื่อรองรับการใช้งานในภาวะฉุกเฉิน
5. ราคาที่สมเหตุสมผล

หลักการ 5 ข้อในเบื้องต้นนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของการให้บริการ Internet Gateway ทั้ง IIG (International Internet Gateway) และ NIX (National Internet Exchange) เลยทีเดียว สำหรับพื้นที่ในการนำเสนอข้อมูลของเรามีจำกัด  ผู้เขียนขออนุญาตนำเสนอเฉพาะข้อมูลในส่วนของบริการ IIG ก่อนและหากมีโอกาสจะนำเสนอข้อมูล NIX เพิ่มเติม  เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลในเชิงลึกที่ไม่สามารถเผยแพร่ได้มากนัก โดยคุณพีรเดช ศิริพร ผู้จัดการส่วนพัฒนาธุรกิจเกตเวย์ ของ CAT ได้ให้ข้อมูลของ IIG และ NIX ตามหลักการ 5 ข้อข้างต้น 

1.ปัจจุบันเครือข่าย CAT IIG มีการเชื่อมต่อกับ Contents ปลายทาง มากน้อยเพียงใด ?
จากข้อมูลของ NECTEC ที่นำเสนอครั้งก่อนพบว่า CAT IIG มีจำนวนคู่ Peer ทาง Physical สูงสุดซึ่งข้อนี้ผ่านฉลุยตั้งแต่แรกเห็น

2. เส้นทางการเชื่อมต่อไปยังต่างประเทศของ CAT IIG มีกี่เส้นทาง ? 
เครือข่ายของ CAT IIG ที่เชื่อมต่อออกไปยังต่างประเทศแบ่งเป็นสองส่วนคือ ส่วนที่เชื่อมต่อจากสถานีเคเบิลใต้น้ำมายังจุดที่ลูกค้าเชื่อมต่อ และ ส่วนที่เชื่อมต่อจากสถานีเคเบิลใต้น้ำไปยังต่างประเทศ

- ส่วนที่ต่อจากสถานีเคเบิลใต้น้ำมายังจุดที่ลูกค้าเชื่อมต่อ
การเชื่อมต่อในส่วนนี้มีการเชื่อมต่อผ่านทั้งระบบที่เป็นเคเบิลที่วิ่งบนบกและระบบเคเบิลใต้น้ำ  ระบบจะทำงานเป็น Redundance ซึ่งกันและกัน  ซึ่งถือเป็นจุดแข็งที่ทำให้ ISP ต่าง ๆ ให้ความไว้วางใจใช้บริการ CAT IIG มากขึ้น กรณีที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ผ่านมา เช่น ภัยน้ำท่วม ภัยจากสถานการณ์ความไม่สงบ หรือแผ่นดินไหวทางภาคใต้ไม่ได้ส่งผลกระทลกับระบบเครือข่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

- ส่วนที่ต่อจากสถานีเคเบิลใต้น้ำไปยังต่างประเทศ
ปัจจุบันเส้นทางจุดเชื่อมต่อออกไปยังต่างประเทศของผู้ให้บริการ Internet Gateway มีอยู่จำนวน 5 เส้นทาง ประกอบด้วย
เส้นทางที่ 1 เชื่อมต่อออกทางประเทศมาเลเซียไปยังสิงคโปร์
เส้นทางที่ 2 เชื่อมต่อผ่านระบบเคเบิลใต้น้ำ ชลี 2 (สงขลา), CAT IIG เท่านั้น
เส้นทางที่ 3 เชื่อมต่อผ่านระบบเคเบิลใต้น้ำ ชลี 3 (ศรีราชา), CAT IIG เท่านั้น
เส้นทางที่ 4 เชื่อมต่อผ่านระบบเคเบิลใต้น้ำ ชลี 4 (สตูล), CAT IIG เท่านั้น
เส้นทางที่ 5 เชื่อมต่อขึ้นทางเหนือผ่าน ลาว เวียดนามและจีนไปยังประเทศฮ่องกง

เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติจนทำให้เส้นทางที่เชื่อมต่อออกต่างประเทศทางใดทางหนึ่งขาด  ผู้ให้บริการ ISP รายใหญ่จึงจำเป็นต้องกระจายการเชื่อมต่อผ่านจุดต่าง ๆ อย่างเหมาะสม และจากข้อมูลนี้จะเห็นว่า CAT IIG มีจุดเชื่อมต่อออกต่างประเทศถึง 3 จุด โดยเชื่อมต่อผ่านระบบเคเบิลใต้น้ำของตนเองที่ได้ลงทุนไว้จึงมีความคล่องตัวในการจัดการเส้นทางไปยังประเทศต่าง ๆ มากกว่าผู้ให้บริการรายอื่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงจึงไม่แปลกที่ ISP จะยังคงเชื่อมต่อออกต่างประเทศผ่าน CAT IIG


                                                      ภาพแสดงการจัดเส้นทางเชื่อมต่อไปยัง IIG

จากภาพอธิบายได้ว่าการต่อออกต่างประเทศของบริการ IIG จัดให้มีเส้นทางการเชื่อมต่อเป็นแบบ Diversity Route คือมีเส้นทาง A, B เชื่อมต่อไปยัง IIG POP ต่างประเทศ  หากเส้นทาง A หรือ B ขาดสามารถส่ง Traffic ผ่านอีกเส้นทางหนึ่งได้ ในกรณีที่ทั้งเส้นทาง A และ B ขาดพร้อมกันสามารถส่ง Traffic ผ่านเส้นทาง C ได้แต่หากเส้นทาง C เกิดขาดพร้อมกับ A และ B ด้วยก็ยังสามารถส่งผ่าน Traffic ไปยังเส้นทาง E, D, F เพื่ออ้อมไป IIG POP ที่ประสบปัญหาได้ ทั้งนี้การส่ง Traffic ผ่านเส้นทางอื่นอาจส่งผลให้ระยะเวลาการส่งผ่านข้อมูลเพิ่มขึ้น แต่ก็ดีกว่าไม่สามารถใช้บริการได้เลย  เห็นด้วยไหมครับ

จากข้อมูลในส่วนนี้แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของโครงข่าย CAT IIG ตาม Concept ที่ว่ามีเส้นทางออกต่างประเทศที่เป็น Diversity Route จริง ๆ ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากการใช้บริการ หากเกิดเหตุขัดข้องกับเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งได้

3. เส้นทางการเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ของ CAT IIG เป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดหรือไม่ ?
จากภาพประกอบแสดงจุดเชื่อมต่อออกต่างประเทศ ทำให้เห็นว่าโดยการเชื่อมต่อทางกายภาพแล้ว  ลูกค้าที่อยู่ภายในประเทศไทย หากต้องการเชื่อมต่อออกไปยังต่างประเทศผ่านโครงข่ายของ CAT IIG (จุดที่ 2, 3, 4) ไม่ว่าจะต่อไปยัง USA หรือ EU จะมีระยะทางที่สั้นกว่า การเชื่อมต่อผ่านจุดอื่น (1 และ 3) เนื่องจากการต่อออกต่างประเทศที่สิงคโปร์จะต้องบวกเพิ่มระยะเวลาในส่วนที่ต้องผ่านประเทศมาเลเซียด้วย แต่หากต่อออกต่างประเทศผ่าน CAT สามารถต่อออกที่สถานีเคเบิลใต้น้ำชลี 4 และสถานีเคเบิลใต้นำ ชลี 2 ได้ในทันที

เส้นทางที่ถือเป็นจุดขายของ CAT IIG คือเส้นทางที่ต่อตรงไปยังประเทศในแถบยุโรป เนื่องจากเป็นการต่อผ่านเส้นทางที่มีระยะทางสั้นกว่าไม่ต้องอ้อมไปสิงคโปร์ และมี Capacity รองรับการใช้งานที่สูง

 

4. ความสามารถในการขยายวงจรเชื่อมต่อไปยังต่างประเทศในภาวะฉุกเฉินของ CAT IIG ?
CAT IIG มีการขยายและจัดตั้ง POP ขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก และมีการเชื่อมต่อไปยัง POP เหล่านั้นด้วยระบบเคเบิลใต้น้ำที่เป็นวงจรในขนาด 10G ซึ่งในแต่ละ POP มีวงจรเชื่อมต่อมากกว่า 1 วงจร และต่างระบบกัน  ดังนั้นในภาวะที่เคเบิลเส้นทางใดไม่สามารถใช้งานได้ CAT IIG สามารถเพิ่ม Bandwidth ในเส้นทางที่ใช้งานได้ในทันทีเพื่อรองรับ Traffic ในเส้นทางที่ไม่สามารถใช้งานได้

                                                       ภาพแสดงการเชื่อมต่อไปยัง POP ต่าง ๆ 

 

5. ราคาของ CAT IIG สมเหตุสมผลหรือไม่ ?
ราคาของบริการอาจเป็นปัจจัยสำคัญอีกข้อหนึ่งที่ส่งผลกับการเลือกใช้บริการของ ISP หลาย ๆ รายเลยทีเดียว  ดังนั้น CAT IIG จึงมีการปรับราคาให้เหมาะสมกับคุณภาพบริการที่จะได้รับ และเป็นราคาซึ่ง ISP สามารถจัดซื้อได้จากยอด Bandwidth การใช้งานบริการ CAT IIG คงไม่ต้องถามอะไรกันมากมาย  หากราคาไม่สมเหตุสมผล ISP ในประเทศคงไม่ใช้บริการ CAT IIG มากขนาดนี้   ฉะนั้นมั่นใจได้เลยว่าราคากับคุณภาพที่ได้รับคุ้มค่าที่จะเลือกใช้บริการแน่นอน

จากเช็คลิสต์ทั้ง 5 นี้พอจะพิสูจน์ให้เห็นได้ในเบื้องต้นว่าด้วยคุณภาพของบริการ และราคาที่สมเหตุสมผลทำให้ ISP ที่มี Internet Gateway เป็นของตนเองอยู่แล้ว ยังต้องตัดสินใจใช้บริการจากเพิ่มจาก CAT IIG ร่วมด้วยเพื่อเพิ่มคุณภาพให้กับบริการของตนนั่นเอง และวันนี้คงเห็นกันแล้วว่า CAT Internet Gateway เหมาะสมกับตำแหน่ง “อินเทอร์เน็ตตัวแม่” จริง ๆ

คุณพีรเดชยังฝากทิ้งท้ายอีกด้วยว่าการที่ CAT มีจุดแข็งในเรื่องของโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำทั้งที่ใช้ภายในและต่างประเทศ ทำให้ผู้ให้บริการทั้ง ISP และผู้ให้บริการ Contents ชั้นนำเกิดความเชื่อมั่นในศักยภาพโครงข่ายของ CAT IIG จึงมีการเชื่อมต่อตรง (Peering) กับบริการ CAT IIG มากขึ้น เช่น Google ทำการเชื่อมต่อกับ CAT IIG เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตปลายทางได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา